เติมเต็ม Ecosystemให้ “ HandySense ”ยกระดับเกษตรกรไทยด้วยงานวิจัยอย่างยั่งยืน

 “ใช้งานง่าย  ทนทานต่อสภาพแวดล้อมและมีราคาที่เกษตรกรไทยสามารถเข้าถึงได้”

  นี่คือจุดเด่นและเป็นเจตนารมย์ของนักวิจัยที่ริเริ่มพัฒนาอุปกรณ์อัจฉริยะอย่าง  “ HandySense” (แฮนดี้ เซนส์) ขึ้น  เพื่อเป็นตัวช่วยในการเริ่มต้นทำเกษตรยุคใหม่ให้กับเกษตรกรไทย   ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติภายใต้การขับเคลื่อนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ที่ต้องการยกระดับเกษตรกรไทยจากการทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่ยังต้องใช้แรงงานคนและขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ มาสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ ที่เป็นเกษตรแม่นยำและเกษตรมูลค่าสูง    

โดย “HandySense” หรือ “ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ” ริเริ่มและพัฒนาโดย “นายนริชพันธ์ เป็นผลดี”  ผู้ช่วยนักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยระบบไซเบอร์-กายภาพ (CPS)  ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจากการเป็นลูกหลานเกษตรกร อาชีพดั้งเดิมของครอบครัว   เมื่อคุณพ่อ ซึ่งเกษียณอายุการทำงาน  กลับไปทำอาชีพเกษตรกรอีกครั้ง  “นริชพันธ์” หรือ “ตุ้น” ซึ่งเป็นนักวิจัยที่พัฒนางานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเซนเซอร์และไอโอที ( Internet of things: IoT) จึงคิดที่จะประยุกต์ความรู้ที่มี  พัฒนาเป็น “อุปกรณ์อัจฉริยะ” เทคโนโลยีตัวช่วยที่จะทำให้ครอบครัวและเกษตรกรคนอื่น ๆ สามารถทำงานด้านการเกษตรได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น  

ระบบบริหารจัดการฟาร์มอัจฉริยะ “HandySense”   อาศัยการทำงานของเทคโนโลยีไอโอทีและเซนเซอร์  ซึ่งประกอบด้วย  2 ส่วนหลัก  ส่วนแรกคือ ระบบเซนเซอร์ตรวจวัดสภาพแวดล้อม  ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตรวจวัดค่าสภาพแวดล้อมที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชแบบเรียลไทม์ผ่านเซนเซอร์ เช่น เซนเซอร์วัดความเข้มแสง  อุณหภูมิ ความชื้นในดิน และในอากาศ  แสง   และส่งต่อข้อมูลจากเซนเซอร์ผ่านระบบคลาวด์ ไปยังส่วนที่ 2 คือ ระบบแสดงผลแจ้งเตือนและควบคุมการทำงานผ่าน Web application    ที่สามารถแสดงผลข้อมูลสภาวะปัจจุบันของพืช และนำไปเปรียบเทียบกับค่าที่เหมาะสมของการเพาะปลูก (Crop Requirement) เพื่อแจ้งเตือนและสั่งการระบบต่าง ๆ ให้ทำงานต่อไป

ทั้งนี้ผู้ใช้งานสามารถควบคุม การทำงานของระบบอัตโนมัติได้ใน 3 รูปแบบคือ 1.การวัดค่าจากเซนเซอร์  เมื่อเซนเซอร์ตรวจพบค่าสภาวะที่ไม่เหมาะสมจะสั่งงานระบบอื่น ๆ ให้ทำงานโดยอัตโนมัติ 2.การตั้งเวลา ซึ่งเกษตรกรสามารถตั้งเวลาให้ระบบทำงานโดยอัตโนมัติตามเวลาที่กำหนดไว้ได้ และ 3.การสั่งงานแบบกำหนดเอง ซึ่งสามารถสั่งการ ปิด-เปิดระบบควบคุมต่าง ๆ ได้ทันทีผ่านสมาร์ตโฟน  

              ทีมวิจัยฯ ได้มีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลค่าที่เหมาะสมของการเพาะปลูกพืชหลายชนิด  ซึ่งป้อนค่าไว้ในแอปพลิเคชันโดยอัตโนมัติ  ไม่ว่าจะเป็น เมล่อน มะเขือเทศ มะม่วง ข้าว ผักไฮโดรโปรนิกส์และเห็ด    นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชั่นให้เกษตรกรสามารถป้อนค่าที่เหมาะสมของพืชแต่ละชนิดเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง  ทำงานได้ทั้งในระบบออนไลน์และออฟไลน์ เกษตรกรสามารถดูข้อมูลสภาพแวดล้อมย้อนหลังในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะแสดงผลในรูปแบบกราฟ สามารถนำข้อมูลไปใช้วางแผนการเพาะปลูกในอนาคตได้

ที่มา : เติมเต็ม Ecosystemให้ “ HandySense ”ยกระดับเกษตรกรไทยด้วยงานวิจัยอย่างยั่งยืน – คนกับความคิด ชีวิตกับนวัตกรรม (innolifethailand.com)

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *