Handy Sense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ – Smart Farm จากความเข้าใจเกษตรกรไทย

สัมภาษณ์ | คุณนริชพันธ์ เป็นผลดี

ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยระบบไซเบอร์-กายภาพ (CPS) เนคเทค – สวทช.

บทความ | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์

วิดีโอ | ศศิวิภา หาสุข

ภาพประกอบ| ศศิวิภา หาสุข, กรรวี แก้วมูล

ไม่ว่าสิ่งรอบตัวจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน แต่ปัจจัยที่ยังยืนหนึ่งของวงการเกษตรไทยไม่เปลี่ยนแปลง คือ สภาพดินฟ้าอากาศซึ่งมีผลโดยตรงต่อคุณภาพและปริมาณของผลผลิต แม้สภาพอากาศในปัจจุบันจะแปรปรวนยากต่อการควบคุม แต่วิธีการทางการเกษตรได้อัพเกรดสู่ระบบเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Farm ตอบรับโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี อย่างไรก็ตามความสมาร์ตอย่างเดียวอาจไม่ใช่ทางออก หากเกษตรกรไม่สามารถเข้าใจและเข้าถึงการใช้งานได้อย่างแท้จริง

เนคเทคชวนคุณนริชพันธ์ เป็นผลดี ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยระบบไซเบอร์-กายภาพ (CPS) เนคเทค – สวทช. แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับ “Handy Sense” อุปกรณ์ Smart Farm ที่สร้างขึ้นจากความเข้าใจเกษตรกรไทย

รู้จัก Handy Sense เริ่มต้นจากความเข้าใจเกษตรกรไทย

“Handy Sense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ” นำเทคโนโลยีเซนเซอร์ (sensor) ผนวกอุปกรณ์ไอโอที (Internet of Things) สู่อุปกรณ์ตรวจวัดและควบคุมสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยต่อการเจริญเติบโตของพืชผล ตั้งแต่การปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยว ไม่ว่าจะเป็นการให้น้ำ การให้ปุ๋ย การป้องกันแมลง รวมทั้งการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณแสง อีกด้วย

คุณนริชพันธ์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของระบบ Handy Sense ว่า “เริ่มต้นจากแรงบันดาลใจ คือ คุณพ่อและต้นตระกูลเป็นเกษตรกร

เราเห็นว่าเกษตรกรต้องใช้พลังงานเยอะกว่าจะได้ผลผลิตออกมารวมทั้งเงินทุนและทรัพยากรต่าง ๆ ซึ่งช่วงปี 2558 มีอุปกรณ์ตัวหนึ่งเพิ่งเข้ามาและเป็นที่นิยม คือ อุปกรณ์ไอโอที (Internet of things) เราจึงคิดนำอุปกรณ์นี้มาเป็นตัวช่วยบริหารจัดการฟาร์ม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งด้านทรัพยากรและแรงงาน เพราะคุณพ่อก็แก่ลงทุกวัน นั่นคือจุดเริ่มต้นที่เรานำเทคโนโลยีเข้าไป เพราะเราเป็นลูกเกษตรกร เราจึงต้องการช่วยยกระดับเกษตรกรโดยใช้เทคโนโลยี”

ความเป็นเกษตรกรผนวกกับทักษะความรู้ทางเทคโนโลยีในฐานะนักวิจัยทำให้ระบบ Handy Sense ได้รับการพัฒนาโดยคำนึงถึงการใช้งานของเกษตรกรเป็นหลัก “เราเป็นเกษตรกร เรารู้ว่าควรจะพัฒนาอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีอย่างไรให้ support เกษตรกร ซึ่งจริง ๆ แล้วเกษตรกรไม่ต้องการสิ่งที่ยุ่งยากและซับซ้อน เขาต้องการความง่าย ใช้งานง่าย เข้าถึงง่าย”

การทำงานของระบบ Handy Sense

ระบบ Handy Sense ทำงานร่วมกัน 2 ส่วน คือ (1) อุปกรณ์ตรวจวัดและควบคุม (2) web application โดย Handy Sense จะตรวจวัดค่าสภาพแวดล้อมที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชผลแบบเรียลไทม์ผ่านเซนเซอร์ (sensor) ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ ความชื้นในดิน ความชื้นสัมพัทธ์ แสง และส่งต่อข้อมูลจากเซนเซอร์ผ่านระบบคลาวด์แล้วนำมาเปรียบเทียบกับค่าที่เหมาะสมของการเพาะปลูกพืช (Crop Requirement) เพื่อแจ้งเตือนและสั่งการระบบต่าง ๆ ให้ทำงานต่อไป

โดยทีมวิจัยและพัฒนาได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลค่าที่เหมาะสมของการเพาะปลูกพืช (Crop Requirement) หลายชนิดป้อนค่าไว้ในแอปพลิเคชันโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็น เมล่อน มะเขือเทศ มะม่วง ข้าว ผักไฮโดรโปรนิกส์ เห็ด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชั่นให้เกษตรกรสามารถป้อนค่าเหล่านี้ได้ด้วยตนเองอีกด้วย

3 Smart ฟังก์ชันที่มาพร้อมกับความง่าย

เกษตรกรสามารถตรวจสอบข้อมูลสภาพแวดล้อมและสั่งงานระบบผ่าน web application ที่สามารถใช้งานกับคอมพิวเตอร์ไปจนถึงสมาร์ตโฟน เมื่อระบบพบสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมกับพืช เช่น อุณหภูมิในแปลงสูงกว่าค่าที่กำหนดไว้จะแสดงผลเป็นสีแดง เพื่อให้เกษตรกรสังเกตเห็นได้โดยง่ายและสามารถสั่งงานต่อไปได้ทันที ผ่าน 3 สมาร์ตฟังก์ชั่น ดังนี้

1) การสั่งงานผ่านสมาร์ตโฟน

เกษตรกรสามารถสั่งงาน on / off ระบบควบคุมต่าง ๆ ผ่านสมาร์ตโฟนได้ เช่น หากพบการแจ้งเตือนค่าความชื้นในดินต่ำกว่าที่กำหนด สามารถกดสั่งรดน้ำพืชผลได้ทันที

2) การตั้งเวลา

เกษตรกรสามารถตั้งเวลาให้ระบบทำงานโดยอัตโนมัติตามเวลาที่กำหนดไว้ เช่น ตั้งเวลาการให้ปุ๋ยซึ่งจำเป็นต้องให้อย่างสม่ำเสมอ มีรอบเวลาชัดเจน

3) การใช้ระบบเซนเซอร์

เมื่อเซนเซอร์ตรวจพบค่าสภาวะที่ไม่เหมาะสมจะสั่งงานระบบอื่น ๆ ให้ทำงานโดยอัตโนมัติ เช่น หากพบค่าอุณหภูมิสูงกว่าที่กำหนด จะสั่งงานให้สเปรย์หมอกทำงานโดยอัตโนมัติเพื่อลดอุณหภูมิ

“ฟังก์ชันการใช้งานคิดมาจากเราเป็นเกษตรกรแล้วเราอยากได้อะไร สิ่งที่ Handy Sense พยายามทำ คือ ความง่ายในการใช้งาน แต่คำว่าใช้งานง่ายในมุมของเกษตรกรเป็นอย่างไร เราต้องเข้าใจมันก่อน เมื่อเรารู้ว่ากระบวนการใช้งานสมาร์ตโฟนของเกษตรกรเป็นอย่างไรเราจึงพัฒนาให้คล้ายกัน ถ้าเกษตรกรใช้ LINE ได้ ก็ใช้งานระบบนี้ได้เช่นกัน”

นอกจากนี้เกษตรกรสามารถดูข้อมูลสภาพแวดล้อมย้อนหลังช่วง 1 ปีที่ผ่านมาในรูปแบบกราฟรวมถึงสามารถนำข้อมูลออกเป็นรายงานผ่่านแอปพลิเคชันเพื่อใช้เป็นข้อมูลวางแผนการเพาะปลูกในอนาคต “เราพยายามทำให้ Handy Sense สามารถติดตั้งได้ง่ายเหมือน TV ที่เสียบปลั๊กแล้วใช้งานได้ทันที เกษตรกรอาจต้องตั้งค่าเพียงครั้งเดียวแล้วหลังจากนั้นก็ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม” คุณนริชพันธ์ กล่าว

 2 สิ่งที่เกษตรกรต้องมี! เพื่อใช้งานระบบ Handy Sense

Handy Sense เป็นอุปกรณ์ IoT ดังนั้นสิ่งแรกที่จำเป็นต้องมี Internet ซึ่งใช้ความเร็วเริ่มต้นในระดับ 2G ก็เพียงพอต่อการใช้งาน ถัดมา คือ การให้น้ำโดยใช้ระบบท่อ ด้วย Handy Sense ใช้วาล์วไฟฟ้าควบคุมการให้น้ำ/ปุ๋ย และใช้ magnetic switch ควบคุมการเปิดปิดปั๊มน้ำ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของระบบไฟฟ้า ซึ่งคุณนริชพันธ์ อธิบายว่า “ถ้ามีไฟฟ้าจะทำให้เราสามารถใช้งานอุปกรณ์ได้อย่างต่อเนื่องและสะดวกในการจัดหาอุปกรณ์ แต่ถ้าไม่มีก็สามารถใช้แบตเตอร์รี่ หรือ โซลาร์เซลล์ได้ แต่ต้องคอยเฝ้าดูอุปกรณ์หากแบตเตอร์รี่หมด หรือแสงไม่เพียงพอ”

ท้าพิสูจน์ ! Handy Sense ปลูกพืชผลไม่พึ่งฤดูกาล ใช้ทรัพยากรคุ้มค่า เพิ่มปริมาณผลผลิต

Handy Sense ลงสนามใช้งานจริงแล้ววันนี้ทั่วประเทศ หนึ่งในนั้น คือ เกษตรกรต้นแบบในจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างจังหวัดฉะเชิงเทรานำโดยเกษตรและสหกรณ์จังหวัดฯ และเนคเทคภายใต้โครงการพัฒนาสินค้าเกษตรปลอดภัยสูง โดยนำระบบ Handy Sense ไปใช้งานจริงกว่า 34 แห่งทั่วฉะเชิงเทรา คุณจิตกร เผด็จศึก – ประธานศูนย์การเรียนรู้ เกษตรปลอดภัยสูง เบอร์ 8 กล่าวถึงการนำระบบ Handy Sense ไปใช้จริงว่าช่วยเพิ่มผลผลิตถึง 20% ลดการใช้น้ำลงไปกว่า 5 – 10% และใช้แรงงานน้อยลง

“เดิมเรารดน้ำแบบใช้สายยางหรือใช้ระบบน้ำธรรมดาที่ให้คนเปิดปิด ทำให้น้ำที่ออกมาไม่สม่ำเสมอ บางครั้งอาจจะมากไปหรือน้อยไป ทำให้ผักไม่โตหรือผักเน่าได้ เมื่อเรานำ Handy Sense ช่วยวัดอุณหภูมิหรือวัดความชื้นในดินเป็นหลัก การให้น้ำก็จะตรงกับความต้องการของพืชจริง ๆ ใช้เวลาน้อยลง ระบบทำงานได้อัตโนมัติโดยที่เราไม่ต้องไปยุ่ง ไม่ต้องไปเปิดประตูแปลงให้เชื้อโรคหรือแมลงเข้าไป” คุณจิตรกร กล่าว

นอกจากนี้ ระบบ Handy Sense ได้ติดตั้งใช้งานให้กับเกษตรกร Young Smart Farmer กว่า 30 แห่งทั่วประเทศภายใต้โครงการ DTAC ฟาร์มแม่นยำ โดยสามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรเฉลี่ยถึง 20% ต่อปี

“ยกตัวอย่างโครงการ DTAC ฟาร์มแม่นยำ การปลูกผักชีอินทรีย์ในโรงเรือน เขาไม่รู้ว่าต้องรดน้ำปริมาณเท่าไหร่ ก็รดทั่ว ๆ ไปตามความรู้สึกว่ามันพอแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้น คือผลผลิตเกิดรากเน่าโคนเน่า ซึ่งผักชีต้องขายทั้งต้นและราก ฉะนั้นจึงมีของเสียเกิดขึ้นมาก โดยปกติปลูกผักชี 1 โรงเรือนขายได้ประมาณ 10,000 บาท เมื่อนำระบบ Handy Sense เข้าไปช่วย รายได้จึงเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 บาท”

“ดีแทคฟาร์มแม่นยำ” โซลูชั่นหนึ่งในการทำเกษตรอย่างยั่งยืน ผ่าน IoT หวังขับเคลื่อนไทยสู่เกษตร 4.0

จากที่กล่าวไปข้างต้นว่า คุณนริชพันธ์ เป็นผลดี เป็นลูกหลานเกษตรกรและมีมุ่งมั่นที่จะยกระดับเกษตรกรด้วยเทคโนโลยี ดังนั้นสถานที่แรกที่ Handy Sense ได้ลงสนามทดสอบการทำงานจะเป็นที่ไหนไปไม่ได้ นอกจาก “ฟาร์มมะเขือเทศ ล้านนาเจ้านาย ของครอบครัวเป็นผลดี”

“ช่วงฤดูหนาวผลผลิตของมะเขือเทศจะดีมากประมาณ 800 กิโลกรัม แต่ช่วงฤดูร้อนผลผลิตเหลือประมาณ 400 กิโลกรัมจะหายไปกว่าครึ่ง เพราะสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมทำให้มะเขือเทศไม่ติดผล การที่จะทำให้มะเขือเทศติดผลได้ต้องรักษาอุณหภูมิให้ไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นไปได้ยากมากในช่วงฤดูร้อน เมื่อเรานำระบบ Handy Sense ช่วยควบคุมปัจจัยในเรื่องของอุณหภูมิ ระบบสเปรย์หมอก หรือสปริงเกอร์เพื่อลดอุณหภูมิ ผลผลิตที่ได้จึงเพิ่มขึ้นมาเป็น 600 – 700 กิโลกรัม ดังนั้น สิ่งที่ Handy Sense ช่วยได้เลยก็คือเรื่องการเพิ่มปริมาณผลผลิตในช่วงฤดูที่ไม่สามารถทำผลผลิตที่ดีได้” คุณนริชพันธ์ กล่าว

เมื่อเรารู้ว่าพืชผลเหมาะกับสภาพแวดล้อมแบบใดและสามารถควบคุมให้เหมาะสมสม่ำเสมอได้ ด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตรงตามความต้องการของพืชผล ผลพลอยได้ที่ตามมาคือคุณภาพและผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น จะดีแค่ไหนถ้าเราสามารถปลูกพืชผลที่มีคุณภาพได้ตลอดทั้งปีโดยไม่พึ่งพิงฤดูกาล เรียกได้ว่าถือไพ่เหนือกว่าแน่นอน

ไม่ได้ทำเพื่อแข่งขัน หวังเป็นสาธารณะประโยชน์ : Open Hardwere ก้าวต่อไปของ Handy Sense

ปัจจุบันอุปกรณ์ Smart Farm มีให้เลือกสรรมากมายในท้องตลาด แต่ความโดดเด่นของ Handy Sense คือ การนำข้อมูลที่ได้จากระบบมาวิเคราะห์ (Data Analysis) จนได้ค่าสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมกับพืชมากที่สุด ซึ่งแตกต่างจากอุปกรณ์ Smart Farm ทั่ว ๆ ไป

“แม้มีอุปกรณ์ Smart Farm จำนวนมากในปัจจุบัน แต่สิ่งที่เราทำเราไม่ได้แข่งขันกับใคร เราเป็นองค์กรที่ต้องช่วยเหลือประชาชน วิจัยเพื่อประเทศชาติ สิ่งที่เราจะทำ คือ Open Hardware คือเราจะมีพิมพ์เขียวของอุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ เฟิร์มแวร์ ไปจนถึง web application เปิดเป็นสาธารณะทั้งหมดเพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้เป็นประโยชน์กับประเทศของเรา”

Open Hardware ซึ่งเป็นก้าวต่อไปของ Handy Sense นั้น จะมีการทดสอบมาตรฐานระดับอุตสาหกรรม ด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กับงานด้านการเกษตรนั้นจะต้องมีความทนทานต่อความแปรปรวนของสภาวะแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นความร้อน ความชื้น ไปจนถึงเรื่องของฟ้าฝน “แน่นอนว่าอุปกรณ์ที่เราส่งผ่านไปถึงเกษตรกร หรือ Open Hardware จะได้มาตรฐาน เราหวังว่าเกษตรกรจะสามารถใช้ได้เหมือนอย่างรถไถ ที่ถึงแม้มีราคาแพง แต่ต้องใช้เพราะของมันต้องมี อย่างไรก็ตาม Open Hardware ของ Handy Sense คาดว่าจะสนนราคาอยู่ที่หลักพันบาท” คุณนริชพันธ์ กล่าวเสริม

Handy Sense x NETPIE x ชาวเกษตร: ผนึกกำลัง Smart Farm NECTEC

เนคเทควิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี Smart Farm มากมาย สำหรับ Handy Sense ได้ผนึกกำลังบูรณาการกับ NETPIE แพลตฟอร์ม IoT สัญชาติไทยที่เพิ่งเปิดตัวเวอร์ชันล่าสุด “NETPIE2020” ไปเมื่อต้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา โดยนำมาใช้เป็นระบบเบื้องหลังในการรับส่งข้อมูลจากเซนเซอร์ (sensor) รวมถึงแอปพลิเคชันชาวเกษตร (Chaokaset) ที่ช่วยเกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกที่ถูกต้องตามกรอบเวลา (crop calendar) พร้อมแนะนำวิธีปฎิบัติงานในแปลงอย่างถูกต้องและเหมาะสมอีกด้วย

“เราใช้ NETPIE เป็น cloud platform IoT ซึ่งมีความเสถียรและมีความคล่องตัวและสอดคล้องกับ Handy Sense นอกจากนี้เรายังทำงานร่วมกับแอปพลิเคชันชาวเกษตรที่ทำเรื่องของการวางแผนการเพาะปลูก (Crop Calendar) ฉะนั้นเกษตรกรสามารถควบคุมเรื่องของการบริหารจัดการฟาร์มได้แบบครบวงจรเต็มประสิทธิภาพ ต้องขอบคุณทั้งNETPIEและชาวเกษตรด้วยที่เข้ามาช่วยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเกษตรกร”

ความเห็นของลูกหลานเกษตรกรในฐานะนักวิจัย “วงการเกษตรไทย Smart พอหรือยัง ?”

เมื่อพูดถึง Smart Farm การทำเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีมักเกิดคำถามตามมาว่าเกษตรกรไทยจะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้จริงหรือไม่ Smart Farmer ต้องเป็นเกษตรกรยุคใหม่หรือเปล่า วันนี้คุณตุ้น – นริชพันธ์ได้ตอบคำถาม “วงการเกษตรไทย Smart พอหรือยัง ?” ในมุมมองที่แตกต่างออกไป

“เราไม่ได้มองว่าเกษตรกรของเรา Smart หรือไม่ แต่สิ่งที่ใช้อยู่มันคุ้มค่าไหม อย่างเมื่อก่อนเราใช้ควายในการไถนา ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นรถไถซึ่งเกษตรกรก็อยู่ในช่วงอายุเดียวกันที่เขาปรับเปลี่ยน มันขึ้นอยู่กับความคุ้มค่าในการใช้ ขึ้นอยู่กับประโยชน์ของอุปกรณ์ที่เราทำมันมากน้อยเพียงไหน เพราะถ้าเขาใช้แล้วมันคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรยุคไหน อายุเท่าไหร่ เขาก็จะใช้”

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *