มูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับ เนคเทค-สวทช. และดีแทค ลงนามความร่วมมือนำร่องโครงการฟาร์มสาธิตเห็ดหลินจือด้วยโซลูชัน “ฟาร์มแม่นยำ”

มูลนิธิชัยพัฒนา กรุงเทพมหานคร วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563: ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค – สวทช. และ นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ลงนามความร่วมมือนำร่องโครงการแปลงฟาร์มสาธิตเห็ดหลินจือที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนาพื้นที่การเกษตรที่สูงผ่านโซลูชัน “ฟาร์มแม่นยำ” ที่ใช้เทคโนโลยี IoT และเซนเซอร์ครบวงจร ที่ทำงานร่วมกับ Cloud Service Mobile Application ที่ดีแทคพัฒนาขึ้น เพื่อเป็นระบบควบคุมการเพาะปลูกแบบในโรงเรือนให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ทุกฤดู มุ่งผนึกกำลังสร้างเป็นองค์ความรู้ด้านการเกษตรให้ชุมชนโดยรอบและเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวถึงความร่วมมือดังกล่าวว่า

“ตามที่สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC และคณะที่ปรึกษาด้านวิชาการของกิจกรรมพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเห็ดแบบครบวงจรโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา ได้วางแผนการดำเนินงานโครงการวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ กรณีศึกษาเห็ดหลินจือ เพื่อศึกษาสภาวะที่เหมาะสม ในการผลิตเห็ดหลินจือตลอดทั้งปี นั้น

โดยการศึกษาวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะในการผลิตเห็ดหลินจือ ณ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา ต.โป่งน้ำร้อน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ นั้น ได้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการศึกษา โดยมีการติดตั้งระบบเซนเซอร์และควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ดหลินจือ เช่น อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัท์ และแสง ซึ่งการควบคุมปัจจัยเหล่านั้น ใช้แอปพลิเคชันผ่านมือถือในการควบคุมและจัดการสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือน ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเห็ดหลินจือ ให้มีคุณภาพและปริมาณที่ดีมากยิ่งขึ้น

ทุกหน่วยงานได้ให้ความร่วมมือในการศึกษาวิจัย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สามารถนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลทางวิชาการ ที่มีความละเอียดและแม่นยำมากยิ่งขึ้น และการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย เหมาะกับโลกในยุคปัจจุบันมาใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ด้วยนั้น นับว่าเป็นการพัฒนาที่ดี เป็นการศึกษาวิจัยที่ก้าวหน้าทันกับยุคสมัย และในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 นี้ การใช้เทคโนโลยีมีความจำเป็นในยุค New normal เพราะการใช้แอปพลิเคชันผ่านมือถือที่ทุกคนสามารถทำได้ แม้แต่ชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างมาก สามารถนำไปถ่ายทอดให้แก่ประชาชน และบุคคลที่สนใจการเรียนรู้เรื่องการเพาะเห็ดหลินจือ ให้ใช้เป้นความรู้ในการประกอบอาชีพได้

ดร. ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) กล่าวว่า

โครงการความร่วมมือวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะกรณีศึกษาเห็ดหลินจือ เนคเทค -สวทช. มีความตั้งใจและมุ่งมั่นในการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอด พร้อมเผยแพร่และขยายผลให้เกษตรกรในพื้นที่ได้นำไปใช้ประโยชน์ โดยเป็นความร่วมมือร่วมระหว่างสามฝ่าย ได้แก่ มูลนิธิชัยพัฒนา ดีแทค และเนคเทค-สวทช.

ในส่วนของเนคเทค-สวทช. ได้ศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ในการใช้ระบบเซนเซอร์เพื่อการเกษตร และระบบควบคุมอัตโนมัติในโรงเรือนที่ชื่อ HandySense มาวิเคราะห์และควบคุมสภาวะที่เหมาะสมในการปลูกเห็ดหลินจือให้ได้ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว โดยมูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนองค์ความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูกเห็ดหลินจือ ร่วมทดสอบและเก็บข้อมูลในพื้นที่ และดีแทคสนับสนุนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้สามารถรับส่งข้อมูลผ่าน IoT Sensor ผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อนำมาวิเคราะห์และสรุปผลร่วมกัน ภายใต้โครงการความร่วมมือดังกล่าวได้มีการเริ่มติดตั้งระบบเซนเซอร์ และระบบควบคุมอัตโนมัติในโรงเรือนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 มีความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการฯเป็นอย่างดี อาทิ ระบบการควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนโดยระบบอัตโนมัติ ได้เลือกใช้ IR Heater เพื่อควบคุมอุณหภูมิและการกระจายของอุณหภูมิ และการออกแบบตำแหน่งในการติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติภายในโรงเรือน อุณหภูมิกระจายตัวของความร้อนเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ โดยได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และทีมวิจัยฯ จะนำผลการทดลองที่ได้ไปปรับใช้กับการทดลองในฤดูหนาวนี้ และเปรียบเทียบผลการเจริญเติบโตต่อไป ซึ่งการดำเนินการศึกษาวิจัยในพื้นที่ มีการเก็บข้อมูลโดยระบบ IoT Sensor แสดงผลข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน พร้อมทั้งได้อบรมการใช้งานให้กับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิชัยพัฒนา ณ ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และมีการประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการฯ ร่วมกันทั้งสามฝ่ายในทุกรอบเดือน

ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินโครงการฯ จะนำไปสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการปลูกเห็ดหลินจือให้กับเกษตรกร และผู้เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศต่อไป

นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า

“ความร่วมมือดังกล่าวสืบเนื่องจากดีแทคมีความตั้งใจจริง และความมุ่งมั่นทุ่มเท ที่จะนำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม องค์ความรู้ ทรัพยากรต่างๆ เพื่อช่วยยกระดับสังคมไทยในมิติต่างๆ โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำ และการยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจของประเทศไทย ในภาคการเกษตรเป็นอีกมิติหนึ่งที่ดีแทคให้ความสำคัญมาโดยตลอด ผ่านโครงการเพื่อสังคม dtac Smart Farmer ซึ่งทำงานร่วมกับมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด เริ่มตั้งแต่การส่งข้อมูลที่จำเป็นให้แก่เกษตรกร เช่น พยากรณ์อากาศ ราคาพืชผล ผ่านทาง SMS จนพัฒนามาถึงการทำแอปพลิเคชัน Farmer Info ต่อยอดพัฒนามาเรื่อย ๆ มาถึง “ดีแทค ฟาร์มแม่นยำ” ให้เป็นฟาร์มต้นแบบโดยใช้เทคโนโลยี IoT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และควบคุมคุณภาพการเพาะปลูก ซึ่งได้มีการทดลองใช้กับ 30 ฟาร์ม ใน 23 จังหวัด

เห็ดหลินจือ พืชเศรษฐกิจมูลค่าสูง กับ โซลูชันฟาร์มแม่นยำ

มูลนิธิฯ เนคเทค-สวทช. และดีแทค ได้ร่วมกันจัดทำโครงการวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ กรณีศึกษา เห็ดหลินจือ ซึ่งเป็นแปลงฟาร์มวิจัยและสาธิต โดยเริ่มลงพื้นที่ศึกษาและวิจัย สำรวจสถานที่มาตั้งแต่ 1 พ.ค. 2562 จากนั้นได้นำเอาเทคโนโลยีไอโอที เซนเซอร์ และเครื่องมือตรวจวัดค่าที่จำเป็นเข้ามาประยุกต์ และศึกษาวิจัยโดยแบ่งเป็น 3 โรงเรือน คือ โรงเรือนควบคุม โรงเรือนที่ไม่ควบคุม และโรงเรือนแบบธรรมดา ว่าได้ผลลัพธ์ออกมาแตกต่างกันอย่างไร

ด้วยมูลนิธิชัยพัฒนาเห็นว่า เห็ดหลินจือเป็นพืชเศรษฐกิจสำหรับส่งออกที่มีมูลค่าสูง ราคารับซื้อต่อกิโลกรัมอยู่ที่หลายหมื่นบาท ผลผลิตต่อโรงเรือนมากกว่า 100,000 บาท ดังนั้น ควรดึงเทคโนโลยีให้มาช่วยในการสร้างผลผลิต และที่ผ่านมาเห็ดหลินจือก็มีข้อจำกัดในการเพาะปลูก เนื่องจากเห็ดหลินจือสามารถปลูกได้เพียงแค่ 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน แต่ในฤดูหนาวไม่สามารถทำได้ เพราะอุณหภูมิเฉลี่ยที่โรงเรือนจะต่ำลงเหลือเพียง 7-10 องศา ทำให้ดอกเห็ดไม่แตกออกและสปอร์เห็ดไม่ทำงาน ในขณะที่อุณหภูมิเหมาะสมในการเพาะปลูกอยู่ที่เฉลี่ย 15-28 องศา และเนื่องจากตัวโรงเรือนที่ไม่สามารถเข้า-ออกได้ตลอดเวลาอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการปนเปื้อน จึงได้ติดกล้อง CCTV เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของผลผลิตและดูว่ามีศัตรูพืชเข้ามากัดกินผลผลิตหรือไม่ และแม้การทำงานในพื้นที่นั้นทั้งเกษตรกรเองหรือผู้เชี่ยวชาญมีความรู้ความเข้าใจอย่างมากในผลผลิต

มูลนิธิชัยพัฒนา จะเป็นผู้สนับสนุนดูแลและควบคุมกระบวนการผลิตเห็ดหลินจือในโรงเรือน ตลอดระยะเวลาการผลิต 2 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 จนถึงวันที่ 31ตุลาคม พ.ศ. 2564 โดยจะเก็บข้อมูลปริมาณผลผลิตเห็ดหลินจือ และข้อมูลความเข้มข้นของสารสำคัญของเห็ดหลินจือในการปลูกแต่ละพื้นที่การปลูก ศึกษาต้นทุนและรายได้ ในการผลิตเห็ดหลินจือ โดยการใช้ระบบการควบคุมโรงเรือนอัตโนมัติ เปรียบเทียบกับกระบวนการปลูกแบบเดิม ประกอบด้วยการศึกษาปริมาณผลผลิตทุกช่วงการปลูกตลอดทั้งปี รายได้จากการปลูก ปริมาณสารสำคัญ ต้นทุนการผลิต ต้นทุนอุปกรณ์ ต้นทุนค่าแรง ต้นทุนสาธารณูปโภค และต้นทุนค่าบำรุงรักษา ร่วมกับนักวิจัยเนคเทค-สวทช.

โซลูชันฟาร์มแม่นยำ

การติดตั้งอุปกรณ์ IoT และเซ็นเซอร์ในพื้นที่แปลงเกษตร หรือโรงเรือน เพื่อทำหน้าที่วัดความชื้นในน้ำ ในอากาศ ในดิน วัดค่าอุณหภูมิ ชุดอุปกรณ์ดังกล่าวจะทำหน้าที่ร่วมกับแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์มือถือ โดยส่งสัญญาณผ่านการเชื่อมต่อไร้สาย แจ้งผลเกษตรกรให้สามารถดูแลผลผลิตจากที่ใดก็ได้ในโลก เกษตรกรสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวตัดสินใจปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่แจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันได้อย่างเหมาะสม ทันท่วงที หากเกษตรกรใช้งานโซลูชันดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จะสามารถช่วยลดต้นทุนภาคการผลิตไปในตัว และมีข้อมูลสถิติที่จัดเก็บและเรียกใช้ได้อย่างเป็นระบบเพื่อประโยชน์ในการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและพื้นที่การเกษตรได้ ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตผลทางการเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *