ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พัฒนาระบบเกษตรอัจฉริยะ (Handy Sense) ใช้งานจริงในพื้นที่ทำการเกษตรปลอดภัยสูงหรือผักปลอดภัย จังหวัดฉะเชิงเทรา ช่วยให้สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของพืช ใช้งานง่าย ทนทาน ราคาถูก ตรวจวัดเกษตรได้อย่างแม่นยำ
5 มีนาคม 2563 จังหวัดฉะเชิงเทรา ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร ลงพื้นที่การเกษตรติดตามความก้าวหน้าภายหลังจากการ “ถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบเกษตรอัจฉริยะ (Handy Sense)” โดยมี ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวแนะนำและให้การต้อนรับคณะสื่อมวลชน ณ ฟาร์มผักปลอดภัยสูง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งคุณจิตรกร เผด็จศึก ประธานสหกรณ์ปลูกผักปลอดภัยสูง ให้การต้อนรับพร้อมนำคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมฟาร์มที่ติดตั้งระบบ Handy Sense ซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่ คุณนริชพันธ์ เป็นผลดี ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส และทีมระบบไซเบอร์-กายภาพ หน่วยทรัพยากรด้านการคำนวณและไซเบอร์-กายภาพ ได้นำไปติดตั้งในฟาร์มผักปลอดภัยสูง และนำผลผลิตที่ได้จากการนำงานวิจัยมาใช้งานในฟาร์มมาจำหน่าย
หลังจากนั้น นำคณะสื่อมวลชนเข้าดูงานที่นำระบบ Handy Sense ไปติดตั้งที่ ฟาร์มสมายเลม่อน ของ คุณสุรพล จารุพงศ์ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมผสาน แหล่งท่องเที่ยวเชิงการเกษตร ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ตำบลท่าทองหลาง อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวว่า “เนคเทค ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการประยุกต์เทคโนโลยีไปสู่งานด้านต่างๆ รวมถึงงานทางด้านเกษตกรรม ซึ่งเป็นภาคการผลิตที่สำคัญของคนไทยมายาวนาน ดังนั้นการทำเกษตรกรรมแบบปลอดภัยนั้นถือเป็นการปลูกพืชที่ใช้กระบวนการทางธรรมชาติในการเพาะปลูกทำให้เกิดความปลอดภัยไม่มีสารพิษตกค้าง ผลผลิตที่ได้จากการเพาะปลูกพืชได้ตรงตามมาตรฐานส่งผลให้มีราคาสูง ปัจจุบันการทำเกษตรกรรมแบบปลอดภัยนั้นถือเป็นการปลูกพืชที่ใช้กระบวนการทางธรรมชาติในการเพาะปลูกทำให้เกิดความปลอดภัยไม่มีสารพิษตกค้าง ผลผลิตที่ได้จากการเพาะปลูกพืชได้ตรงตามมาตรฐานส่งผลให้มีราคาสูง ดังนั้น การควบคุมคุณภาพและปริมาณการผลิตได้อย่างแม่นยำจึงเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะการเกษตรแม่นยำคือการสร้างระบบการเพาะปลูกที่สามาถควบคุมตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการวัสดุ การเพาะปลูก การให้น้ำ การให้ปุ๋ย การป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช รวมถึงการควบคุมสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ อาทิ อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณแสง ข้อมูลดังกล่าวนี้ เกษตรกรสามารถดำเนินการควบคุมได้ทั้งหมด แต่ตัวแปรที่สำคัญในการควบคุม คือ การควบคุมสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชว่าควรทำอย่างไร พืชจึงมีการเจริญเติบโตในสภาวะที่เหมาะสมตลอดช่วงอายุ คือ ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยว”
เกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ (Handy Sense)
ระบบเกษตรอัจฉริยะ เป็นการนำเทคโนโลยีเซนเซอร์เข้ามาช่วยในกระบวนการเพาะปลูกถือเป็นสิ่งจำเป็นในการช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมสภาวะแวดล้อมในการปลูกตั้งแต่ต้น ส่งผลให้ควบคุมคุณภาพและประเมินปริมาณผลผลิต รวมถึงช่วยเรื่องการเพิ่มคุณค่าของผลิตผลได้ โดยใช้การควบคุมกระบวนการเพาะปลูกเพื่อให้ผลผลิตออกในช่วงที่มีความต้องการ หรือผลผลิตขาดแคลน รวมถึงการช่วยเกษตกรนำองค์ความรู้ที่เกิดจากทักษะที่ไม่สามารถถ่ายทอดให้เข้าใจได้เนื่องจากเป็นภูมิปัญญาและเป็นการทำเกษตกรรมแบบวิถีชาวบ้าน โดยการลองผิดลองถูก หรือเป็นองค์ความรู้ที่สืบทอดต่อกันมา ไม่มีการจัดเก็บองค์ความรู้หรือข้อมูลที่ใช้อ้างอิง ซึ่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนส่งผลให้มีกระบวนการเรียนรู้ สามารถถ่ายทอดได้ง่าย รวมถึงสามารถเก็บข้อมูลมาศึกษาและถ่ายทอดสู่เกษตรกรรุ่นต่อไปได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
เทคโนโลยีที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นเทคโนโลยีนวัตกรรมเซนเซอร์เพื่อวิเคราะห์และควบคุมปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ที่มีผลสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชโดยเป็นกระบวนการตั้งแต่การปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยวโดยใช้เซนเซอร์ในการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ประกอบด้วย เซนเซอร์อุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ ปริมาณแสง ปริมาณการให้น้ำ ค่าความเป็นกรดด่าง ค่าความขุ่น ปริมาณออกซิเจน โดยนำข้อมูลมากำหนดตัวแปรสำหรับควบคุมสภาวะแวดล้อม เพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพ ประเมินปริมาณผลผลิต เพิ่มคุณค่าผลผลิต รวมทั้งลดต้นทุนการผลิต