HandySense นวัตกรรมด้านการเกษตรแบบเปิด เพื่อประโยชน์สาธารณะ

วันที่ 18 มีนาคม 2564 : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมส่งเสริมการเกษตร จับมือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค-สวทช. ประกาศเผยแพร่พิมพ์เขียวต้นแบบผลงานวิจัย HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ เพื่อประโยชน์สาธารณะ ร่วมกับพันธมิตร ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) จังหวัดฉะเชิงเทรา และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ขับเคลื่อนสมาร์ตฟาร์มแบบเปิดสู่สังคมไทย ตั้งเป้าหมายให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ หรือผู้สนใจทั่วไปนำไปผลิตเพื่อใช้หรือจำหน่ายได้ ภายใต้แนวคิด Smart Farming Open Innovation หรือ นวัตกรรมแบบเปิด ซึ่งจะเป็นนวัตกรรมที่เปิดเผยรายละเอียดการผลิต และอนุญาตให้สาธารณะนำไปผลิตและใช้งานโดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ (License Fee) และค่าตอบแทนการใช้สิทธิรายปี (Royalty Fee) โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรไทยยุคใหม่ ได้มีเครื่องมือที่ทันสมัย ใช้งานในราคาที่จับต้องได้ และต้องการให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือทางด้านสมาร์ตฟาร์มโดยผู้ประกอบการไทย

เนคเทค-สวทช. ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาระบบสมาร์ตฟาร์มที่ชื่อว่า “HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ” มาตั้งแต่ปี 2560 ในระยะแรกได้มีการนำผลงานวิจัยไปขยายผลให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ภายใต้โครงการ “ดีแทคฟาร์มแม่นยำ” ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ดีแทค ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ เนคเทค-สวทช. มีเป้าหมายการพัฒนาให้เกิดฟาร์มต้นแบบ โดยใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (IoT) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และควบคุมคุณภาพการเพาะปลูก ซึ่งได้มีการทดลองใช้กับ 30 ฟาร์ม ใน 23 จังหวัด โดยการใช้อุปกรณ์ที่สำคัญประกอบด้วยกล่องเซนเซอร์ที่กระจายอยู่ในโรงเรือนเพาะปลูก ใช้สำหรับวัดความชื้นในดินและในอากาศ อุณหภูมิ และแสง จากนั้นทำการประมวลผลแล้วส่งข้อมูลจากแปลงเพาะปลูกไปยังสมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ตของเกษตรกรแบบ real-time เพื่อให้เกษตรกรสามารถควบคุมดูแลสภาพในแปลงเพาะปลูกได้อย่างใกล้ชิด และแก้ปัญหาได้หากเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ

จากจุดเริ่มต้นดังกล่าวทีมนักวิจัยของเนคเทค-สวทช. ได้เดินหน้าสู่การนำผลงานวิจัยและองค์ความรู้ของอุปกรณ์ HandySense ไปขยายผลในหลายพื้นที่ อาทิ ในปี พ.ศ. 2562 โดยการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดฉะเชิงเทรา มีการขยายผลการใช้งานจริงในพื้นที่ทำการเกษตรปลอดภัยสูงหรือผักปลอดภัยให้กับเกษตรกรผู้สนใจใน 34 แห่ง ผลการดำเนินงาน พบว่าช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของพืช ระบบใช้งานง่าย ทนทาน ราคาประหยัด สามารถลดการใช้แรงงานได้ประมาณ 50% มีรายได้จากการเพิ่มคุณภาพปริมาณผลผลิตและลดการใช้ทรัพยากรโดยเฉลี่ยอย่างน้อย 20% และในปีงบประมาณ 2564 สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ขยายผลเพิ่มอีก 50 แห่ง โดยเป็นการมุ่งเน้นการควบคุมกระบวนการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดฉะเชิงเทราให้ได้อย่างเหมาะสม

Leave a comment