การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และเศรษฐกิจโลกกำลังเป็นตัวผลักดันให้ภาคการเกษตรต้องปรับระบบการผลิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพให้สูงขึ้นในขณะที่โจทย์การทำต้นทุนการผลิตให้ลดลง พร้อมกับการใช้เงินลงทุนที่ไม่สูง
ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน เปิดโครงการความร่วมมือส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่” HandySense : Smart Farming Open Innovation ว่า กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ดีแทคและหน่วยงานพันธมิตร ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ คือ ระบบการบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ (Handy Sense) โดยการสร้างต้นแบบแปลงเรียนรู้การบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ ที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และศูนย์ปฏิบัติการในสังกัดของกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 50 ศูนย์
พร้อมพัฒนาความรู้ทักษะในการบริหารจัดการ ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบอัจฉริยะ แล้วนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของชุมชน เพื่อยกระดับสู่การทําเกษตรสมัยใหม่ และเกษตรแบบแม่นยํา (Precision Agriculture)
เข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว่า โครงการ Handy Sense มีเป้าหมายจะดำเนินการ รวม 16 จุด แบ่งเป็น ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 6 ศูนย์ (เขตละ 1 ศูนย์) และศูนย์ปฏิบัติการของกรมส่งเสริมการเกษตรอีก 10 ศูนย์ และมีแผนจะขยายผลให้ครบทั้ง 50 ศูนย์ปฏิบัติการภายในปี 2566 นอกจากนี้จะดำเนินการขยายผลไปสู่เกษตรกรทั่วไปที่สนใจที่จะพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะควบคู่กันไปด้วย
“การเปิดเผยพิมพ์เขียวต้นแบบผลงานวิจัย Handy Senseไม่คิดค่าลิขสิทธิ์และค่าใช้สิทธิ์ นับว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับเกษตรกรไทยที่จะมีโอกาสเข้าถึงเครื่องมือที่ทันสมัยได้ในราคาไม่แพงจนเกินไป “
สำหรับระบบเกษตรอัจฉริยะ Handy Sense เป็นอุปกรณ์ IoT และ application ในการควบคุมสภาพแวดล้อม ที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช ประกอบด้วย 4 เซนเซอร์และ 3 ฟังก์ชั่น ซึ่งมีมูลค่าการติดตั้ง5,000 บาทต่อระบบ แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ กับแปลงเพาะปลูกได้ทุกขนาด ซึ่งเกษตรกรสามารถออกแบบระบบแปลงได้เอง
Handy Sense นี้จะใช้วัดสภาพแวดล้อมในการเพาะปลูก และควบคุมการให้น้ำสำหรับพืช ได้อย่างเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างน้อย 20% โดยเฉลี่ย ซึ่งเกิดจากการลดต้นทุนการใช้ทรัพยากรและการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต โดยปัจจุบันมีการติดตั้งอุปกรณ์ Handy Sense ทั่วประเทศแล้วจำนวน 77 แห่ง และคาดว่าจะขยายเป็น 200 แห่งได้ในปี 2565
ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวว่า อยากจะเห็นทุกหลังคาเรือนของเกษตรกรไทย ได้เข้าถึงและสามารถใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีด้านเกษตรสมัยใหม่ได้โดยง่าย ในราคาที่ประหยัดและสามารถก้าวกระโดดไปสู่ยุคเกษตรอัจฉริยะได้
ธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs เกษตร มีความสนใจในระบบ Handy Sense ไปผลิตเพื่อใช้งานหรือจำหน่าย ธ.ก.ส. พร้อมที่จะสนับสนุนสินเชื่อเพื่อรองรับความต้องการด้านเงินทุน
ที่มา : พิมพ์เขียวเกษตรอัจฉริยะ ใช้เงินทุนไม่เกิน 5 พันบาท (bangkokbiznews.com)